2012-05-07

รายละเอียดอย่างย่อ "อาณาจักรสามก๊ก"



อาณาจักรสามก๊ก

ในการปกครองบ้านเมืองของจีน ราชวงศ์ฮั่นถือเป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ราชวงศ์หนึ่ง ซึ่งได้แผ่ขยายอาณาเขตออกไปไกล ขับไล่ชนเผ่านอกด่านออกไปจากภาคเหนือของประเทศได้ ด้านทิศเหนือครอบครองแมนจูเรียและเกาหลีบางส่วน ทิศใต้ครองมณฑลกวางตุ้งและกว่างซีรวมถึงตอนเหนือของเวียดนาม ครั้นถึงปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกหรือตงฮั่น จักรพรรดิทรงอ่อนแอ ขันทีมีอำนาจเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ขุนศึกหัวเมืองต่าง ๆ พากันกระด้างกระเดื่องและตั้งกองกำลังส่วนตัวขึ้น ก่อความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านไปทั่วแผ่นดิน ราษฎรได้รับความเดือนร้อนไปทั่วจนทำให้เกิดกบฏโจรโพกผ้าเหลืองขึ้น กลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ ทำสงครามแย่งชิงอำนาจกันโดยไม่สนใจรัฐบาลกลาง ในที่สุดแผ่นดินจีนแตกออกเป็นสามก๊กอย่างชัดเจนภายหลังจากที่โจโฉพ่ายแพ้แก่เล่าปี่และซุนกวนในการศึกที่ผาแดง เมื่อปี พ.ศ. 751

วุยก๊ก

วุยหรือเฉาเว่ย  จัดเป็นก๊กที่ยิ่งใหญ่และมีอำนาจมากที่สุดในบรรดาสามก๊ก ในระหว่างปี พ.ศ. 763 - พ.ศ. 808 (ปี ค.ศ. 220-265) วุยก๊กครอบครองพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศจีน ปกครองโดยโจโฉ ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นราชวงศ์วุยโดยพระเจ้าโจผีและได้สถาปนาโจโฉเป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์วุยอีกพระองค์หนึ่ง วุยก๊กปกครองอาณาจักรโดยจักพรรดิสืบต่อกันมาทั้งหมด 5 พระองค์ ได้แก่

  พระเจ้าโจผี ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 763 - 769
  พระเจ้าโจยอย ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 769 - 782
  พระเจ้าโจฮอง ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 782 - 797
  พระเจ้าโจมอ ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 797 - 803
  พระเจ้าโจฮวน ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 803 - 808

วุยก๊กถูกโจมตีและโค่นล้มราชวงศ์วุยโดยสุมาเอี๋ยน ซึ่งต่อมาภายหลังได้สถาปนาราชวงศ์จิ้นขึ้นแทนและรวบรวมแผ่นดินที่แบ่งเป็นก๊กต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

จ๊กก๊ก

จ๊กหรือสู่ฮั่น  เป็นหนึ่งในอาณาจักรสามก๊ก ปกครองโดยพระเจ้าเล่าปี่ เชื้อพระวงศ์แห่งราชวงศ์ฮั่น ในระหว่างปี พ.ศ. 764 - พ.ศ. 806 (ปี ค.ศ. 221-263) จ๊กก๊กครอบครองพื้นที่ทางภาคตะวันตกของประเทศจีน บริเวณมณฑลเสฉวน จ๊กก๊กปกครองอาณาจักรโดยจักรพรรดิสืบต่อกันมาทั้งหมด 2 พระองค์ ได้แก่

  พระเจ้าเล่าปี่ ปกครองจ๊กก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 764 - 766
  พระเจ้าเล่าเสี้ยน ปกครองจ๊กก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 766 - 806

จ๊กก๊กมีอายุได้แค่เพียง 42 ปีก็ล่มสลายลงด้วยกองทัพของวุยก๊ก เนื่องจากการปกครองแผ่นดินที่ล้มเหลวเพราะความโง่เขลาเบาปัญญาไร้ความสามารถวันๆเอาแต่เสพสุขของพระเจ้าเล่าเสี้ยน

ง่อก๊ก

ง่อหรืออาณาจักรหวูตะวันออก  เป็นหนึ่งในอาณาจักรสามก๊ก ปกครองโดยพระเจ้าซุนกวน ในระหว่างปี พ.ศ. 765 - พ.ศ. 823 (ปี ค.ศ. 222-280) ง่อก๊กครอบครองพื้นที่ทางด้านตะวันออกของประเทศจีน ทางบริเวณตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี ซึ่งคือพื้นที่บริเวณรอบ ๆ เมืองหนานจิงในปัจจุบัน ง่อก๊กปกครองอาณาจักรโดยจักรพรรดิสืบต่อกันมาทั้งหมด 4 พระองค์ ได้แก่

  พระเจ้าซุนกวน ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 765 - 795
  พระเจ้าซุนเหลียง ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 795 - 801
  พระเจ้าซุนฮิว ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 801 - 807
  พระเจ้าซุนโฮ ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 807 - 823

ง่อก๊กเป็นอาณาจักรสุดท้ายในบรรดาอาณาจักรสามก๊กที่ล่มสลายโดยกองทัพของสุมาเอี๋ยนและราชวงศ์จิ้น

เนื้อเรื่องย่อสามก๊ก

ภายหลังจากที่พระเจ้าฮั่นโกโจ ได้สถาปนาราชวงศ์ฮั่นจนมีการสืบทอดราชวงศ์มามากกว่าสี่ร้อยปี ในยุคสมัยของพระเจ้าเลนเต้เกิดการขัดแย้งกันเองภายในราชวงศ์ฮั่นจนถึงการแย่งชิงอำนาจและราชสมบัติ พระเจ้าเลนเต้ไม่ทรงตั้งตนในทศพิธราชธรรม ขาดความเฉลียวฉลาด เชื่อแต่คำของเหล่าสิบขันที เหล่าขุนนางถืออำนาจขูดรีดราษฏรจนได้รับความเดือดร้อนไปทั่ว โจรผู้ร้ายชุกชุมปล้นสะดมไปทั่วแผ่นดิน ดังจดหมายเหตุของจีนตอนหนึ่งได้บันทึกไว้ว่า "ขุนนางถือราษฏรดั่งหนึ่งอริราชศัตรู ขูดรีดภาษีอากรโหดร้ายยิ่งกว่าเสือ"[14] เกิดกบฎชาวนานำโดยเตียวก๊ก หัวหน้ากลุ่มโจรโพกผ้าเหลืองออกปล้นชิงเมืองต่าง ๆ จนเกิดความวุ่นวายแตกแยกแผ่นดินเป็นก๊กเป็นเหล่าจำนวนมาก

ภายหลังพระเจ้าเลนเต้สวรรคต เกิดการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างพระราชโอรสทั้งสองพระองค์แต่ต่างพระชนนี พระเจ้าหองจูเปียนได้สืบทอดราชสมบัติโดยมีพระนางโฮเฮาผู้เป็นมารดาเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่ในราชสำนักคงเกิดความวุ่นวายจากเหล่าขันทีทั้งสิบ โฮจิ๋นผู้เป็นพระเชษฐาของพระนางโฮเฮาจึงวางอุบายให้ตั๋งโต๊ะมาช่วยกำจัดเหล่าขันที แต่โฮจิ๋นกลับถูกลวงไปฆ่าทำให้เหล่าทหารของโฮจิ๋นยกกำลังเข้าวังหลวงเพื่อแก้แค้นจนเกิดจลาจลขึ้น ภายหลังตั๋งโต๊ะยกทัพมาถึงวังหลวงและฉวยโอกาสในขณะที่เกิดความวุ่นวายยึดอำนาจมาเป็นของตน สั่งถอดพระเจ้าหองจูเปียนและปลงพระชนม์ และสถาปนาพระเจ้าหองจูเหียบขึ้นแทน ทรงพระนามว่าพระเจ้าเหี้ยนเต้ และสถาปนาตนเองเป็นพระมหาอุปราช มีฐานะเป็นบิดาบุญธรรมของพระเจ้าเหี้ยนเต้

ตั๋งโต๊ะถืออำนาจเป็นใหญ่ในราชสำนัก สั่งประหารผู้ที่ไม่เห็นด้วยกันตนเองจนเหล่าขุนนางพากันโกรธแค้น โจโฉพยายามลอบฆ่าตั๋งโต๊ะแต่ไม่สำเร็จจนต้องหลบหนีไปจากวังหลวงและลอบปลอมแปลงราชโองการ นำกำลังทัพจากหัวเมืองต่าง ๆ มากำจัดตั๋งโต๊ะ แต่กองทัพหัวเมืองกลับแตกแยกกันเองจึงทำให้การกำจัดตั๋งโต๊ะล้มเหลว อ้องอุ้นจึงวางแผนยกเตียวเสี้ยนบุตรสาวบุญธรรมให้แก่ตั๋งโต๊ะและลิโป้บุตรบุญธรรม จนตั๋งโต๊ะผิดใจกับลิโป้เรื่องนางเตียวเสี้ยน ทำให้ลิโป้แค้นและฆ่าตั๋งโต๊ะ หลังจากตั๋งโต๊ะตาย ลิฉุยและกุยกีได้เข้ายึดอำนาจอีกครั้งและฆ่าอ้องอุ้นตาย รวมทั้งบังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้อยู่ภายใต้อำนาจ สร้างความคับแค้นใจให้แก่พระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นอย่างยิ่ง จนมีรับสั่งให้เรียกโจโฉมาช่วยกำจัดลิฉุย กุยกีและเหล่าทหาร

โจโฉเข้าปราบปรามกบฎและยึดอำนาจในวังหลวงไว้ได้ แต่เกิดความกำเริบเสิบสานทะเยอทะยานถึงกับแต่งตั้งตนเองเป็นมหาอุปราช ควบคุมพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้อยู่ภายใต้อำนาจอีกครั้ง ข่มเหงรังแกเหล่าขุนนางที่สุจริต พระเจ้าเหี้ยนเต้จึงใช้พระโลหิตเขียนสาสน์ลับไปยังเหล่าขุนนางที่จงรักภักดีเพื่อให้ช่วยกำจัดโจโฉแต่ถูกจับได้ทำให้เหล่าขุนนางถูกฆ่าตายหมด ความอสัตย์ของโจโฉแพร่กระจายไปทั่วทำให้บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ พากันแข็งข้อไม่ยอมขึ้นด้วย โจโฉจึงนำกำลังยกทัพไปปราบปรามได้เกือบหมด แต่ไม่สามารถปราบปรามเล่าปี่และซุนกวนได้ เล่าปี่เป็นเชื้อสายราชวงศ์ฮั่นมีศักดิ์เป็นอาของพระเจ้าเหี้ยนเต้ที่มีความยากจนอนาถา มีคนดีมีฝีมือไว้เป็นทหารหลายคนแต่มีกำลังไพร่พลน้อยทำให้ต้องคอยหลบหนีศัตรูอยู่เสมอ จนได้จูกัดเหลียงมาเป็นที่ปรึกษาช่วยวางแผนกำลังรบให้ จึงสามารถตั้งตนเป็นใหญ่ในเมืองเสฉวนได้ สำหรับซุนกวนเป็นเจ้าเมืองกังตั๋งโดยการสืบสกุล เป็นเจ้าเมืองที่มีศีลธรรม ปกครองบ้านเมืองด้วยความยุติธรรมจึงเป็นที่เคารพนับถือและยอมสวามิภักดิ์มากมาย ทั้งสามฝ่ายต่างทำศึกสงครามกันตลอด แต่ก็ไม่อาจเอาชนะซึ่งกันและกันได้

เมื่อโจโฉตาย โจผีบุตรชายขึ้นครองราชสมบัติแทน สั่งปลดพระเจ้าเหี้ยนเต้และสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ ทรงพระนามว่าพระเจ้าเหวินตี้ ก่อตั้งราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์วุย เล่าปี่ซึ่งเป็นเชื้อสายราชวงศ์ฮั่นก็สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิสืบทอดราชวงศ์ฮั่น โดยใช้เมืองเสฉวนเป็นเมืองหลวง ซุนกวนซึ่งไม่ยอมขึ้นกับพระเจ้าโจผีหรือเล่าปี่จึงตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิ ปกครองเมืองกังตั๋ง ทำให้ประเทศจีนในขณะนั้นแตกแยกออกเป็นสามอาณาจักรหรือที่เรียกขานกันว่าสามก๊กได้แก่ฝ่ายจ๊กก๊กของเล่าปี่ วุยก๊กของโจผีและง่อก๊กของซุนกวน ภายหลังจากพระเจ้าโจผี พระเจ้าเล่าปี่และพระเจ้าซุนกวนสวรรคต เชื้อสายราชวงศ์เริ่มอ่อนแอ สุมาเจียวซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นมหาอุปราชของวุยก๊ก สามารถเอาชนะจ๊กก๊กและควบคุมตัวพระเจ้าเล่าเสี้ยนมาเป็นเชลยได้สำเร็จ หลังจากสุมาเจียวตาย สุมาเอี๋ยนบุตรชายสืบทอดตำแหน่งแทนและช่วงชิงราชสมบัติของวุยก๊กมาจากพระเจ้าโจฮวนและแต่งตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิ ก่อตั้งราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์จิ้น พระเจ้าสุมาเอี๋ยนสามารถปราบพระเจ้าซุนโฮแห่งง่อก๊กให้ยินยอมสวามิภักดิ์ได้สำเร็จ แผ่นดินจีนที่เคยแตกแยกออกเป็นก๊กเป็นเหล่ามายาวนาน กลับรวมกันเป็นอาณาจักรเดียวได้ดั่งเดิม

ตัวละครหลัก

เล่าปี่
  เล่าปี่  มีชื่อรองเสวียนเต๋อแปลว่าผู้มีคุณธรรมอันประเสริฐ เรียกชื่อเต็มว่า "ห้วนจงกุ๋นยี่เซงเตงเฮาเล่าปี่" รูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าขาว ใจคอกว้างขวาง นิสัยสุภาพเรียบร้อย เยือกเย็นและมีความกตัญญูสูง พูดน้อยยิ้มยาก ไม่แสดงความรู้สึกออกทางสีหน้า เชี่ยวชาญในการใช้กระบี่คู่ เป็นเชื้อสายราชวงศ์ฮั่นมีศักดิ์เป็นอาของพระเจ้าเหี้ยนเต้ บิดาเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก มีฐานะยากจนต้องยังชีพด้วยการทอเสื่อขาย ภายหลังได้พบกับกวนอูและเตียวหุยและสาบานตนเป็นพี่น้องกันร่วมออกปราบปรามโจรโพกผ้าเหลือง เล่าปี่ไม่ประสบความสำเร็จมาตลอดชีวิตจนได้จูกัดเหลียงมาเป็นที่ปรึกษา สามารถตั้งตัวเป็นใหญ่ได้ที่เสฉวนครอบครองอาณาจักรจ๊กก๊ก แต่งตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิทรงพระนามจักรพรรดิเจาเลี่ยแห่งราชวงศ์ฮั่น เมื่อกวนอูและเตียวหุยถูกฆ่าตาย จึงยกทัพไปแก้แค้นซุนกวนแต่ถูกตีย่อยยับกลับมาและประชวรหนักจนสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 766 ที่มณฑลเสฉวน รวมพระชนมายุ 63 ชันษา

กวนอู
  กวนอู  เป็นชาวอำเภอไก่เหลียง มีชื่อรองหวินฉาง รูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าแดงเหมือนผลพุทราสุก นัยน์ตายาวรี หนวดเครางามถึงอก มีง้าวยาว 11 ศอกหนัก 82 ชั่งเป็นอาวุธคู่กาย เรียกว่าง้าวมังกรเขียว มีกำเนิดในครอบครัวนักปราชญ์ เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์พิชัยสงคราม เก่งกาจวิทยายุทธ จงรักภักดี กตัญญูและซื่อสัตย์เป็นเลิศ ภายหลังได้พลั้งมือฆ่าปลัดอำเภอและน้าชายตายจนต้องหลบหนีและพบกับเล่าปี่และเตียวหุยจนสาบานตนเป็นพี่น้องกัน ร่วมทำศึกกับเล่าปี่มาโดยตลอด เป็นหนึ่งในห้าทหารเสือของเล่าปี่ ครองเมืองเกงจิ๋วร่วมกับกวนเป๋งบุตรบุญธรรมและจิวฉอง ภายหลังถูกแผนกลยุทธของลกซุนและลิบอง จนเสียเมืองเกงจิ๋ว กวนอูคับแค้นใจที่เสียทีลกซุนและลิบองจึงนำทัพไปตีเกงจิ๋วเพื่อแย่งคืน แต่ต้องหลุมพลางและถูกจับได้พร้อมกวนเป๋งที่เขาเจาสันและถูกประหารในปี พ.ศ. 762 รวมอายุได้ 59 ปี

เตียวหุย
  เตียวหุย  เป็นชาวเมืองตุ้นกวน มณฑลเหอเป่ย รูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าดำ ศีรษะโต นัยน์ตาพอง เสียงดังเหมือนฟ้าผ่า มีฝีมือในการรบสูงแต่มีจุดอ่อนที่นิสัยใจร้อน วู่วาม เสียการงานเพราะสุราบ่อยครั้ง มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ต่อพี่น้อง ชำนาญการใช้ทวนที่มีลักษณะคล้ายกริช เดิมเป็นคนฆ่าหมูขาย ภายหลังได้พบกับเล่าปี่และกวนอูจนสาบานตนเป็นพี่น้องกัน ร่วมทำศึกกับเล่าปี่มาโดยตลอด เป็นหนึ่งในห้าทหารเสือของเล่าปี่ อายุน้อยกว่าเล่าปี่ 6 ปี น้อยกว่ากวนอู 5 ปี เมื่อกวนอูถูกฆ่าตาย เตียวหุยโกรธแค้นมาก ทวงสัญญาที่สาบานไว้ในสวนท้อและรบเร้าให้เล่าปี่ยกทัพไปตีซุนกวน แต่จูกัดเหลียงห้ามปราบไว้ ต่อมาได้สั่งลงโทษทหารสองคนคือฮอมเกียงและเตียวตัดโทษฐานเตรียมการไม่ทันและคาดโทษหนักถึงตาย เตียวหุยเสพสุราและเมาหลับในค่าย ทหารทั้งสองย้อนกลับมาฆ่าและตัดหัวก่อนไปสวามิภักดิ์ต่อง่อก๊ก รวมอายุได้ 54 ปี

จูล่ง
  จูล่ง  เป็นชาวตำบลเจวินติ้ง เมืองฉางชาน มณฑลเหอเป่ย รูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าขาว สวมเกราะเงินและชำนาญการใช้ทวนเป็นอาวุธ แต่เดิมจูล่งเป็นทหารของอ้วนเสี้ยว แต่ทนกับนิสัยไม่มีสัจจะของอ้วนเสี้ยวไม่ได้จึงไปอยู่กับกองซุนจ้าน ภายหลังได้พบกับเล่าปี่และซาบซึ้งในคุณธรรมและความมีน้ำใจ เมื่อกองซุนจ้านตายจึงไปทำราชการด้วย จูล่งเป็นหนึ่งในห้าทหารเสือของเล่าปี่และเป็นกำลังสำคัญในการทำศึกสงครามเกือบทุกครั้ง วีรกรรมสำคัญของจูล่งคือเมื่อเล่าปี่พ่ายแพ้โจโฉที่ฉางปั่น ครอบครัวเล่าปี่เกิดพลัดหลงในขณะหลบหนีไปทางใต้ จูล่งได้บุกตะลุยตีฝ่ากองทัพของโจโฉเพื่อค้นหาครอบครัวของเล่าปี่ และช่วยชีวิตอาเต๊าด้วยการนำมาใส่ไว้ในเกราะเสื้อที่บริเวณหน้าอก อาศัยกำลังตัวคนเดียวตีฝ่าตะลุยกองทัพ5แสนของโจโฉและนำอาเต๊ามาคืนให้แก่เล่าปี่ได้สำเร็จ จนเป็นที่เลื่องลือกล่าวขานไปทั่วแผ่นดินจนถึงปัจจุบัน จูล่งเป็นขุนศึกนักรบตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงวัยชรา และเสียชีวิตในปีศักราชเจี้ยนซิ่ง ปีที่ 18 รวมอายุได้ 72 ปี

จูกัดเหลียง
  จูกัดเหลียง  มีชื่อรองขงเบ้ง เกิดในปี พ.ศ. 724 ปีเดียวกับพระเจ้าเหี้ยนเต้ เป็นชาวตำบลหยางตู เมืองหลางเยีย มณฑลซานตง สูง 6 ศอก ใบหน้าขาวเหมือนหยก มักถือพัดขนนกคู่กายตลอดเวลา ได้รับการยกย่องถึงการเป็นผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร ฉายาฮกหลงหรือมังกรหลับ รักความถูกต้องยุติธรรม ชอบสันโดษ สติปัญญาเฉียบแหลม ชำนาญตำราพิชัยสงคราม รอบรู้สภาพภูมิประเทศและดินฟ้าอากาศ เล่าปี่ได้เชิญให้ไปช่วยทำราชการถึงสามครั้ง และเป็นผู้เสนอแผนหลงจงเตวัย แบ่งแยกแผ่นดินจีนออกเป็นสามก๊กเพื่อคานอำนาจซึ่งกันและกัน รับใช้ราชวงศ์ฮั่นถึงสองรุ่น จูกัดเหลียงได้รับการดำรงตำแหน่งเป็นมหาอุปราชแห่งอาณาจักรจก หลังจากพระเจ้าเล่าปี่สิ้นพระชนม์ จูกัดเหลียงได้ดูแลอาณาจักรจกเป็นอย่างดี พร้อมยังกรีธาทัพขึ้นเหนือตีอาณาจักรวุ่ย 5 ครั้ง แต่เสียดายนักที่ความฝันของเขาก็ไปได้แค่ครึ่งทางในการกรีธาทัพครั้งที่6 จูกัดเหลียงเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 54 ปี ภายหลังจากตรากตรำการศึกสงครามมาตลอดชีวิต

โจโฉ
  โจโฉ ) มีชื่อรองเม่งเต๊กหรือเมิ่งเต๋อ เรียกชื่อเต็มว่า "โจเม่งเต๊กโฉ" เป็นลูกบุญธรรมของขันทีในวังหลวง แต่เดิมแซ่แฮหัวและคาดว่าน่าจะเกิดจากความแตกแยกในตระกูล ทำให้แยกออกมาเป็นแซ่โจ รูปร่างสูงใหญ่ คิ้วเล็ก หนวดยาว สติปัญญาเฉลียวฉลาด ชำนาญด้านอักษรศาสตร์และตำราพิชัยสงคราม ลุ่มหลงสุรานารี ในวัยเด็กมีนิสัยเกเร ชอบเอาชนะผู้อื่นและตั้งตนเป็นหัวหน้าเสมอ มีหมอดูเคยทำนายโชคชะตะของโจโฉว่า "โจโฉจะสามารถครอบครองโลกได้ แต่โลกก็จะลุกเป็นไฟเพราะความฉลาดปราดเปรื่องของตนเอง"

โจผี
  โจผี  พระนามรอง จื่อหวน เป็นพระโอรสองค์รองในพระเจ้าโจโฉ ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรวุ่ย พระเจ้าโจผีทรงพระอัฉริยะภาพวิชาศิลปะวิทยาและวิชาการสงคราม พระองค์ทรงต่อสู้เคียงคู่พระบิดาแต่ยุคแรกเริ่ม หลังจากโจโฉเสียชีวิต พระเจ้าโจผีได้กลายเป็นผู้นำของทัพของโจโฉ เข้ายึดอำนาจของพระเจ้าเหี้ยนเต้พร้อมบังคับให้พระเจ้าเหี้ยนเต้สละบัลลังก์ และปราบดาภิเศกตนเป็นปฐมกษัติรย์แห่งอาณาจักรวุ่ยในที่สุด

สุมาอี้
  สุมาอี้  มีชื่อรองว่า ชงต๊ะ มีลักษณะ แววตาแหลมเล็กคล้ายตาเหยี่ยว สุมาอี้เป็นคนเฉลียวฉลาด ชำนาญตำราพิชัยสงคราม ใจคอหนักแน่นแต่ก็เด็ดขาดในการตัดสินใจ เป็นมหาอุปราชคนสำคัญของอาณาจักรวุ่ยพร้อมรับใช้พระเจ้าแผ่นดินอาณาจักรวุ่ยถึง 4 พระองค์ ทั้งนี้สุมาอี้เป็นคู่ปรับคนสำคัญของจูกัดเหลียงและสู้รบปรบมือกับจูกัดเหลียงได้ผลผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะอยู่ถึง 5 ครั้ง และเผด็จศึกจูกัดเหลียงอย่างเด็ดขาดได้ในศึกครั้งที่ 6 แล้วจูกัดเหลียงเสียชีวิต หลังจากสิ้นสกุลโจ สุมาอี้ก็ได้สถาปนานราชวงศ์จิ้นขึ้นแทน

ซุนกวน
  ซุนกวน  มีชื่อรองจ้งโหมว เป็นเจ้าผู้ครองแคว้นกังตั๋ง บุตรชายคนที่สองของซุนเกี๋ยน น้องชายซุนเซ็ก ซุนกวนครองเมืองกังตั๋งต่อจากซุนเซ็กด้วยอายุเพียง 18 ปี ไม่ชำนาญการศึกสงคราม แต่มีฝีมือในการปกครองคนสูง มีขุนนางและทหารฝีมือดีไว้ในครอบครองเช่น จิวยี่ โลซก ลกซุน ลิบอง เตียวเจียวและขุนนางเหล่าทหารฝีมือดีอีกเป็นจำนวนมาก ซุนกวนร่วมมือกับเล่าปี่ทำสงครามกับโจโฉในศึกผาแดง แต่ภายหลังไปสวามิภักดิ์กับโจโฉ เมื่อโจผีขึ้นครองราชสมบัติต่อจากโจโฉได้แต่งตั้งซุนกวนเป็นเงาอ๋อง แต่มาถูกตัดความสัมพันธ์ในสมัยพระเจ้าโจยอย ซุนกวนแต่งตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิในปี พ.ศ. 771 ทรงพระนามพระเจ้าตงอู๋ ครองราชสมบัตินานถึง 24 ปี สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 795 รวมพระชนมายุ 71 ชันษา

จิวยี่
  จิวยี่  ชื่อรองกงกิ่ง อุปราชคนแรกแห่งอาณาจักรง่อ ที่ปรึกษาของซุนเซ็กพระเชษฐาของพระเจ้าซุนกวน ครั้นก่อนซุนเซ็กจะเสียชีวิตก็ได้สั่งเสียจิวยี่ให้ดูแลอาณาจักรง่อก๊กและซุนกวน ต่อมาในสมรภูมิผาแดงจิวยี่ได้จับมือร่วมรบกับจูกัดเหลียง เอาชนะทัพหลวงของโจโฉได้สำเร็จ กล่าวกันนักว่าจิวยี่ริษยาจูกัดเหลียงแต่ข้อเท็จจริงจิวยี่และจูกัดเหลียงมิได้มีอคติแก่กันเลย

ลกซุน
  ลกซุน  อุปราชคนที่ 4 แห่งอาณาจักรง่อ มีสติปัญญาเฉียบแหลม สามารถเอาชนะขุนศึกที่มีประสบการณ์อย่างกวนอูและพระเจ้าเล่าปี่ ทำให้ทั้งกวนอูเสียชีวิตและเล่าปี่เสียชีวิตและสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมาตามลำดับ ภายหลังถูกปลดจากตำแหน่งเพราะขัดแย้งกับพระเจ้าซุนกวนในเรื่องของการแต่งตั้งมกุฏราชกุมาร ตรอมใจจนเสียชีวิตในที่สุด

ตั๋งโต๊ะ
  ตั๋งโต๊ะ  ชื่อรองจ้งหยิ่ง อุปราชแห่งราชวงศ์ฮั่นในรัชสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้ หลังจากการปราบปราม10ขันที ตั๋งโต๊ะก็ก้าวสู่การเป็นทรราชย์ผู้ยิ่งใหญ่จนแผ่นดินเดือดเป้นไฟในเวลาต่อมา ท้ายที่สุดเขาก็ถูกสังหารโดยลิโป้เนื่องด้วยอุบายของเตียวเสี้ยนและอ้องอุ้น และทำให้โจโฉได้รับความชอบธรรมเป็นอุปราชแห่งราชวงศ์ฮั่นในเวลาต่อมา

ลิโป้
  ลิโป้  ชื่อรองเฟยเสียง เป็นสุดยอดขุนพลของตั๋งโต๊ะและเป็นที่เกรงขามไปทั่วแผ่นดิน ครั้งลิโป้ต่อสู้กับจูล่ง จูล่งใกล้แพ้แต่เล่าปี่มาช่วยไว้ได้ทัน แม้ว่าลิโป้จะเป็นที่เกรงขามไปทั่วแผ่นดินแต่ลิโป้เป็นคนอกตัญญูฆ่าผู้มีพระคุณมากมายรวมทั้งตั๋งโต๊ะด้วยเช่นกัน ท้ายที่สุดยอดขุนพลลิโป้ผู้นี้ต้องพ่ายแพ้ให้แก่โจโฉและเล่าปี่ คราวที่ต้องประหารลิโป้ ลิโป้ได้ขอชีวิตแก่เล่าปี่ แต่เล่าปี่ก็ยืนยันให้โจโฉประหารเพราะความอกตัญญูของตนเอง

เตียวเสี้ยน
  เตียวเสี้ยน  บุตรสาวบุญธรรมของอ้องอุ้น เตียวเสี้ยนเป็นคนกตัญญูกตเวทีต่ออ้องอุ้นและแผ่นดิน อ้องอุ้นจึงให้อุบายนางไปยุยั่วให้ลิโป้และตั๋งโต๊ะแตกกันจนนางได้เป็นภรรยาของตั๋งโต๊ะและลิโป้ ต่อมาแผนการของอ้องอุ้นสำเร็จและตั๋งโต๊ะเสียชีวิต นางเตียวเสี้ยนจึงไปอาศัยกับลิโป้ และหายสาปสูญไป บ้างกล่าวว่านางไม่ได้ไปอาศัยอยู่กับลิโป้แต่ไปอาศัยอยู่กับบิดาอย่างเก่า บ้างกล่าวว่านางหลบหนีไปหลังจากจบสิ้นภารกิจยุให้ลิโป้กับตั๋งโต๊ะแตกกัน บ้างถูกสังหารหรือหลบหนีไปได้เมื่อโจโฉและเล่าปี่จับกุมลิโป้ บ้างว่าถูกอ้องอุ้นสังหาร บ้างว่าลิฉุยกุยแกสังหาร บ้างกล่าวว่านางไม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์แต่แรกแล้ว